10 เว็บไซต์สุดเจ๋ง สำหรับนักขายภาพออนไลน์





สำหรับบล็อกนี้ ถ้าคุณกำลังตามหากลวิธีการหาเงินออนไลน์สุดเจ๋ง เอาแบบที่แค่ลงขายสินค้าแล้วก็รอรับเงินชิลๆ  โดยคุณอาจจะเป็นตากล้องมือฉมังใช้อุปกรณ์หลักแสน หรือเป็นแค่เป็นคนธรรมดาที่มีใจรักในการถ่ายรูปก็ได้ ขอเพียงคุณกำลังสนใจในธุรกิจขายภาพออนไลน์ เรามี 10 เว็บไซต์ยอดนิยมทั่วโลกมาเสนอคุณ 

  • สำหรับช่างภาพมือฉมัง เว็บไซต์เหล่านี้อาจช่วยแปรเปลี่ยนรูปภาพในมือคุณให้เป็นเม็ดเงินก้อนงามได้
  • สำหรับบุคคลทั่วไป นี่อาจเป็นโอกาสดีสำหรับคุณในการหาเงินอีกหนึ่งช่องทาง

1. Shutterstock



เว็บไซต์ยอดนิยมของตากล้องประเทศไทย แหม.. จะไม่นิยมได้ยังไงเพราะแค่สโลแกนของเว็บ  "Earn Money Doing What You Love" - สร้างรายได้จากงานที่คุณรัก  ก็กินขาดแล้ว

ในปัจจุบัน Shutterstock ให้บริการภาพสต๊อคกับลูกค้าทั่วโลกมากกว่า 150 ประเทศ และก็จ่ายเงินให้กับตากล้องที่ขายรูปบนเว็บไซต์ตัวเองไปกว่า $350m (คร่าวๆก็ไม่เท่าไร ประมาณหมื่นล้านบาทไทยเอง) ซึ่งหากเลือกที่่จะขายรูปกับ Shutterstock  ข่าวดีก็คือเจ้าของลิขสิทธิ์รูปภาพก็จะยังคงเป็นเราอยู่ หมายความว่าเรายังสามารถนำรูปไปใช้งานอย่างอื่นได้ตามอัธยาศัย โดยที่ Shutterstock จะขายรูปภาพให้กับผู้ซื้อในราคาเหมาจ่าย เรทราคาปกติไม่หักส่วนลดจะประมาณ $49 ต่อ 5 รูป (ตกประมาณรูปละ 300 บาท)

รายได้ : สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมบนเว็บได้ที่ Shutterstock Earning

2. Alamy



อีกเว็บไซต์หนึ่งที่น่าสนใจมากกกกกก (ก ไก่สามล้านตัว) ข้อดีของการลงขายภาพกับเว็บไซต์ Alamy สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 เหตุผลได้แก่ เงิน, เงิน และเงิน .. อันเนื่องมาจาก Alamy นั้นเห็นความสำคัญของเจ้าของรูปภาพและใจกว้างพอที่จะแบ่งรายได้ออกเป็น 50/50 ระหว่างตัวเว็บไซต์ผู้ให้บริการกับเจ้าของภาพตัวจริงเสียงจริง ซึ่งน่าจะเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดแล้วสำหรับชาวตากล้องทุกท่าน สำหรับราคาภาพสต๊อคบนเว็บไซต์นั้น โดยทั่วไปก็จะเริ่มต้นที่ $19 (700บาท) สำหรับ Personal Use และแพงขึ้นตามเงื่อนไขการใช้งาน

รายได้ : 50%

จุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับธุรกิจขายภาพออนไลน์อีกเว็บหนึ่ง ซึ่งภายในคลังภาพสต๊อคของ iStock นั้นจะไม่ได้มีเพียงภาพนิ่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงคลิปวิดีโอ หรือ Vector สวยๆ  เรียกได้ว่าพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบเครื่อง ในส่วนของเงื่อนไขรายได้นั้นจะเริ่มต้นที่ 15% และสามารถเพิ่มได้ถึง 45% ของรายได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่ความผลงานและการตอบรับจากลูกค้า กระตุ้นให้เกิดความท้าทายได้อย่างมาก ส่วนวิธีสมัครขายนั้น ไม่ซับซ้อนมาก แต่ก็มีเทสเล็กๆที่เราจะต้องผ่านให้ได้ก่อนเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าสินค้าของเรามีคุณภาพเพียงพอที่จะขายบน iStock Photo

รายได้ : 15% - 45%

4. Fotolia by Adobe




อีกหนึ่งเว็บไซต์สต๊อคภาพที่ออกแบบได้สวยงามละมุนสายตาสุดๆ ข้อดีของ Fotolia เท่าที่อ่านรีวิวจากบล๊อคเกอร์ต่างประเทศมา มีหลายเสียงคอนเฟิร์มเหมือนกันว่า จ่ายเงินเร็วมาก! แตกต่างจากเว็บไซต์อื่นๆ ซึ่งอาจมีระยะเวลาดำเนินการบ้างก็ 7 วัน บ้างก็ 30 วันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในส่วนของรายได้สำหรับเหล่าช่างภาพที่ตัดสินใจลงขายไว้กับ Fotolia นั้น ทางเว็บไซต์ให้เปอร์เซ็นถึง 33% ของทุกรายได้ที่ได้รับ ขอบอกเลยว่าก็งามใช้ได้อยู่

รายได้ : 33%

5. Dreamstime



เว็บไซต์ขายภาพที่สามารถสมัครได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่ง Dreamstime นอกจากจะน่าสนใจสำหรับนักขายภาพ ก็ยังเป็นที่น่าสนใจสำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อภาพสต๊อคเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีราคารูปภาพสินค้าเฉลี่ยถูกกว่าเว็บอื่นๆ  ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ารูปภาพที่ได้จะด้อยคุณภาพกว่าเว็บไซต์อื่นๆ แต่อย่างใด เพราะว่ารูปภาพทุกภาพที่จะขึ้นขายบนเว็บ Dreamstime นั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากทีมงานอย่างเข้มงวด  

รายได้ : 25% - 50% และสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางหน้าเว็บไซต์โดยตรงได้ที่ Dreamstime Earning

6. 123RF



เว็บไซต์ให้บริการรูปภาพเว็บแรกๆที่ถือกำเนิดขึ้น คนไทยในวงการภาพสต๊อคมักจะรู้จักเว็บไซต์ 123RF จากคอนเซ็ปต์สมัครง่ายๆ รายได้ดี รวมทั้งมีเงื่อนไขรับรูปมาลงขายบนเว็บค่อนข้างง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะขายภาพสต๊อคแล้ว บนเว็บไซต์ยังมีสินค้าหลายอย่าง vectors, footage และคลิปเสียง เรียกได้ว่าครบครันงานดิจิตัล

รายได้ : 30% - 60% ยิ่งอัพโหลดรูปลงขายเยอะยิ่งได้เปอร์เซ็นต์มากขึ้น

7. Crestock




ถึงตัวเว็บไซต์จะไม่ดังเท่าเว็บภาพสต๊อคอื่นๆ แต่สมัครไว้ก็ไม่เสียหายอะไรสำหรับเว็บไซต์ Crestock โดยสามารถสมัคร Account เพื่อลงขายรูปภาพได้ฟรี รวมทั้งมีเงื่อนไขได้รับรายได้ที่น่าสนใจ "ยิ่งขายได้มากก็จะยิ่งได้เปอร์เซ็นมากขึ้น" เหมาะสมกับการเติบโตไปด้วยกันเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสมัครสมาชิกแล้ว สามารถอัพโหลดรูปภาพตามเงื่อนไขและ Keyword ได้ทันที และเมื่อทีมงานอนุมัติ รูปภาพก็จะขึ้นขายอยู่ใน Portfolio ของคุณ นำมาซึ่งรายได้ในที่สุด

รายได้ : 20% - 40% และสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางหน้าเว็บไซต์โดยตรงได้ที่ Crestock Earnning

8. Flickr



Flickr (อ่านว่าฟลิคเกอร์) เป็นเว็บไซต์สไตล์ Community ที่มีผู้ใช้งานกว่า 120 ล้านคนทั่วโลก สำหรับเก็บรูปภาพดิจิตัล โดยอัปโหลดจากผู้ใช้งาน สามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นดูได้ และสามารถทำรายได้ให้กับผู้อัพโหลดรูปได้ด้วยฟังค์ชั่นลิขสิทธิ์ (License) ซึ่งอาจมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่าเว็บไซต์อื่นๆนิดหน่อย เนื่องจากแต่เดิมนั้น Flickr เป็นเว็บไซต์ Platform สร้างบล๊อค อัพโหลดรูปภาพ แต่ในปี 2010 ได้มีการ Partner ร่วมกับ Getty เพื่อทำธุรกิจจำหน่ายภาพเพิ่มเติม โดยเจ้าของภาพจะได้รับ 20% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริง

รายได้ : 20%

9. Smugmug



เว็บไซต์ให้บริการแกลลอรี่และ Portfolio สุดงาม สร้างคุณค่าให้กับรูปภาพของคุณสุดๆ โดยคุณเองจะเป็นเหมือนเจ้าของแกลลอรี่ย่อมๆ มีร้านขายรูปภาพเป็นของตัวเอง ให้ลูกค้าเข้ามาเลือกดูเพื่อนำไปประกอบหนังสือ, ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หรือแม้กระทั่งพิมพ์การ์ดอวยพรตามเทศกาลต่างๆ รวมทั้งยังสามารถจัดโปรโมชั่นและสามารถวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าของคุณด้วยตัวเองจากฟังค์ชั่นที่มีให้ของเว็บไซต์ผู้ให้บริการ Smuggug ข้อดีของการขายภาพออนไลน์กับ Smugmus คือรายได้เกือบทั้งหมดจะเป็นของคุณเอง

รายได้ : 85% ของรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

10. Photoshelter



คล้ายๆกับ Smugmug คือไม่ใช่เว็บขายภาพสต๊อค แต่ให้บริการระบบ E-Commerce เต็มรูปแบบสำหรับช่างภาพมืออาชีพ ปัจจุบันมีผู้ขายกับ Photoshelter อยู่กว่า 80,000 คนทั่วโลก และเมื่อตัดสินใจใช้บริการ Photoshelter เพื่อขายภาพ คุณก็จะมีแกลอรี่รูปภาพสวยๆ ที่สามารถปรับแต่งได้หลากหลายรูปแบบเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องมีคู่แข่งอยู่ขนาบข้างคุณ กลายเป็นธุรกิจรูปภาพส่วนตัวขนาดย่อมๆ นอกจากจะเป็นร้านค้าก็ยังใช้เป็น Portfolio โชว์ผลงานส่วนตัวได้อีก

รายได้ : ประมาณ 90% ของรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น


สรุป
การขายภาพออนไลน์ในปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทาง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเอง ที่จะเลือกเว็บไซต์และสไตล์การขายออกมาให้เกิดประโยชน์และรายได้สูงสุด ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าคุณสามารถร่ำรวยจากเว็บไซต์เหล่านี้ได้หรือไม่  และนอกจากจะต้องพัฒนาทักษะการถ่ายรูปไปเรื่อยๆ เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งในวงการแล้ว ความรู้ในเรื่องการทำตลาดก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันที่จะทำให้คุณสามารถยืนหยัดอยู่ในวงการนี้ได้อย่างยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น