วิธีการตั้งงบประมาณการโฆษณา 4 รูปแบบ
1. จ่ายเท่าที่สามารถจ่ายได้ (Affordable Method)
เหมาะสำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น มีเงินลงทุนไม่มาก หมายถึง วิธีการกำหนดงบประมาณคือจ่ายเท่าที่จ่ายได้เท่านั้น โดยไม่ให้กระทบส่วนอื่นๆ ของธุรกิจ เช่น เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจขายเสื้อผ้า ถ้ามีงบประมาณให้ 10,000 บาท นั่นก็คืองบประมาณการโฆษณา ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายการตลาดที่จะจัดสรรการลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดข้อดี
- มีความชัดเจน กำหนดง่าย
- เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจ
- ฝ่ายการตลาดสามารถเลือกลงทุนโฆษณาได้อย่างอิสระ
ข้อเสีย
- วัดผลลัพธ์ไม่ได้
- ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างงบประมาณลงทุน และยอดขายจริงที่เกิดขึ้น
2. จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อยอดขาย (Percentage Of Sales)
หมายถึง การตั้งงบประมาณคิดเป็นร้อยละของยอดขาย โดยสามารถคิดจากยอดขายในอดีต หรือยอดขายที่ต้องการก็ได้ เช่น ธุรกิจมียอดขายเดือนละ 500,000 บาท กำหนดงบประมาณโฆษณาอยู่ที่ 10% ของยอดขาย เท่ากับว่าใช้งบประมาณ 50,000 บาท หรือ ธุรกิจต้องการยอดขาย 200,000 บาทต่อเดือน กำหนดงบประมาณโฆษณา 30% เท่ากับว่าใช้งบประมาณในการโฆษณา 60,000 บาทเป็นต้นข้อดี
- เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง และแผนการส่งเสริมการขาย
- ฝ่ายบริหารเห็นผลลัพท์ความสัมพันธ์ระหว่างค่าใช้จ่ายโฆษณา ราคาขายและกำไรต่อหน่วย
- เกิดความมั่นคงในการแข่งขัน สามารถปรับการวางแผนงบประมาณโฆษณาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆได้
ข้อเสีย
- งบประมาณโฆษณาขึ้นอยู่กับยอดขายเท่านั้น
- ไม่เหมาะกับการวางแผนระยะยาว
- ไม่คำนึงถึงโอกาส และสถานการณ์ปัจจุบัน
- ไม่มีหลักเกณฑ์ในการกำหนดเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอน และเป็นมาตรฐาน
3. จ่ายเท่ากับคู่แข่ง (Competitive Parity Method)
เป็นวิธีตั้งงบประมาณโฆษณาที่บางบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันใช้กัน โดยกำหนดงบโฆษณาเท่ากับคู่แข่งขัน เช่น บริษัท A ใช้งบประมาณโฆษณา 30 ล้านบาทต่อปี บริษัท B จึงกำหนดงบประมาณโฆษณาเท่ากับบริษัท A คือ 30 ล้านบาทต่อปีเช่นกันข้อดี
- สามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์กับคู่แข่งได้อย่างเห็นภาพ
- ป้องกันสงครามการโฆษณา เพราะใช้งบประมาณเท่ากัน
ข้อเสีย
- ไม่คำนึงถึงสถานการณ์และปัจจัยของธุรกิจตัวเอง เพราะแต่ละบริษัทย่อมมีการผลิตสินค้า, ชื่อเสียง และวัตถุประสงค์ รวมทั้งทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ต่างกัน การที่จะให้บริษัทหนึ่งเป็นตัวอย่างให้กับอีกบริษัทหนึ่งเป็นไปได้ยาก
4. กำหนดวัตถุประสงค์และงานที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ (Objective and Task)
มีวิธีการตั้งงบประมาณโฆษณา 3 ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดวัตถุประสงค์ให้เจาะจง, กำหนดงานที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และประเมินการลงทุน ตามลำดับ โดยมีการมองในภาพรวม และเน้นความสำเร็จเป็นสำคัญตัวอย่างการกำหนดวัตถุประสงค์ ได้แก่ ยอดขายที่ต้องการ ส่วนครองตลาด (Market Share) ที่ต้องการ หรือจำนวนผู้รับที่การโฆษณาต้องการเข้าถึง เช่น ต้องการโฆษณาเพื่อสร้างการรู้จักให้คนทั้งประเทศจำนวนประมาณ 15 ล้านคน รู้จักผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวภายใน 3 เดือน ต้องใช้งบโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ 50 ล้าน วิทยุ 5 ล้าน หนังสือพิมพ์ 20 ล้าน นิตยสาร 25 ล้าน รวม 100 ล้านบาท ดังนั้นงบประมาณโฆษณาที่ต้องการคือ 100 ล้านบาท จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
ข้อดี
- เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณโฆษณา เพราะให้สำคัญกับความสำเร็จเป็นที่สุด
- ได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มโฆษณา
ข้อเสีย
- มีการลงทุนสูง
- ใช้เวลาในการวางแผน และประเมินความเสี่ยง
- ไม่ชี้ให้เห็นว่าควรจะเลือกวัตถุประสงค์อย่างไรและค่าใช้จ่ายที่ลงไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่
0 ความคิดเห็น